วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554


ศิลปะ-วัตนธรรม-ประเพณี
ประเพณีชักพระบาท
จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ วัดตะปอนใหญ่ อำเภอขลุง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้ว ภายในงานมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และมีการแข่งขันการชักเย่อเกวียน โดยมีม้วนภาพเขียนรอยพระพุทธบาทอยู่ตรงกลาง กลางคืนมีมหรสพ
งานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง
จัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 2 ช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงเดือนมาฆบูชา (ประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม) ณ บริเวณยอดเขาคิชฌกูฏ   ภายในงานมีการจัดบวงสรวงเทวดาอารักษ์ พิธีปิดทองรอยพระพุทธบาท การจัดเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานหลายสิบปี โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญสูง และเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
งานของดีเมืองจันท์วันผลไม้
จัดในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จัดที่บริเวณสนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชย โดยมีการประกวดรถประดับผลไม้ การประกวดธิดาชาวสวน การประกวดผลไม้ที่มีชื่อเสียงของภาคตะวันออก และการประกวดสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน การออกร้านจำหน่ายอัญมณี และการออกร้านของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอื่นๆอีกมากมาย
งานตากสินรำลึก
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม ถึงสัปดาห์แรกของเดือน มกราคม ของทุกปี ที่สนามกีฬาจังหวัด เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา มีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานราชการ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของจันทบุรี และการประกวดนางสาวจันทบูร
งานปิดทองพระพุทธไสยาสน์
จัดขึ้นประมาณใกล้เทศกาลตรุษจีน บริเวณวัดไผ่ล้อม มีการแสดงธรรมเทศนา และจัดแสดงมหรสพ
เทศกาลท่องเที่ยวเขาสอยดาว
จัดขึ้นในช่วงปลายปี บริเวณจุดชมวิวที่ว่าการอำเภอสอยดาวและบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ในงานมีการนำเสนอผลผลิตทางการเกษตร สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแข่งขันสอยดาว การจำหน่ายผลไม้หลักของอำเภอ
ประเพณีการแข่งเรือวัดจันทนาราม
ทางวัดจันทนารามได้จัดให้มีการฟื้นฟูประเพณีเก่า ๆ โดยเฉพาะประเพณีการแข่งเรือ ทางวัดได้เชิญเรือจากที่ต่างๆ   มาเข้าร่วมประเพณีในการแข่งขันเรือยาว การแข่งเรือจะจัดแข่งขันในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ทั้งนี้นอกจากจะฟื้นฟูประเพณี เชื่อมความสามัคคีแก่หมู่คณะแล้ว ยังมีโอกาสได้ประกอบการกุศลอีกด้วย
ประเพณีการทำบุญข้าวหลามหรือการทำบุญหัวสะพาน
การทำบุญหัวสะพานของชาวหมู่บ้านหนองตาลิ่น เดิมมีจัดที่หัวสะพานจริง ๆ แต่เนื่องจากไม่สะดวกเพราะรถผ่านไปมาได้ย้ายไปจัดบริเวณศาลาพักร้อนกลางหมู่บ้าน จัดขึ้นประมาณกลางเดือนอ้าย โดยก่อนถึงวันงานคนในหมู่บ้านแทบทุกบ้าน จะทำการเผาข้าวหลามกันเป็นการใหญ่เพื่อเตรียมนำไปทำบุญในวันรุ่งขึ้น บางบ้านก็ทำข้าวต้มห่อ
โดยนำอาหารหวานคาวไป ทำบุญที่ศาลากลางหมู่บ้าน กลางคืนจะมีการแสดงละครชาตรี
ประเพณีพานฟางของชาวบ้านวันยาวล่าง จันทบุรี
ชาวนาจะนำฟ่อนข้าวมาวางเรียงซ้อน ๆ กันในลานนวด กลางลานมีเสาเกียดปักอยู่ตรงกลาง เพื่อใช้เป็นหลักมัดพรวนควาย ประมาณ 5-6 ตัว มัดเรียงกันเป็นแถว   ปลายพรวนมัดติดกับเสาเกียดไว้ ก็ใกล้ค่ำชาวนาจะนำควายที่มัดเป็นพรวนติดกับเสาเกียดย่ำลงบนฟ่อนข้าวที่วางเรียงซ้อนไว้กลางลานนวด เมื่อเม็ดข้าวร่วงจากฟ่อน จะตัดฟางที่มัดฟ่อนข้าวออก และใช้มือหอบฟ่อนข้าวขึ้นมากองรอบเสาเกียด เป็นการรื้อฟ่อนข้าวออกเอาแต่เม็ดข้าวไว้ ชาวนาจะซัดฟางข้าวโดยใช้มือหอบโยนไปที่เสาเกียดกลางลานนวด แล้วใช้ควายชุดเดิมมัดพรวนติดกับเสาเกียดอีกครั้ง ย่ำฟ่อนข้าวอีกหนให้เม็ดข้าวร่วงหล่นให้หมด หลังจากนั้นใช้ดองเกี่ยวฟางข้าวโยนออกไปนอกลาน ก็จะเหลือแต่เม็ดข้าวเปลือกไว้ ขณะที่พานฟางชาวบ้านจะต้องร้องเพลงโหงขึ้นต้นว่า โหงอ่อนเอย ร่อนลงอยู่ในดงมะไฟ หนุ่มสาวจะร้องเพลงแก้กันอย่างสนุกสนานจนหายเหนื่อย
       เสร็จพิธีพานฟางก็จะทำข้าวเหนียวน้ำกะทิเลี้ยงกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ด้วยความสนุกสนานรักใคร่สามัคคี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น