วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

การละเล่นเมืองจันท์

  • การแสดงละครเท่งตุ๊ก ( เท่งกรุ๊ก ) ที่เรียกว่า ละคร เพราะเป็นการแสดงที่เป็นเรื่องราว มีประวัติอยู่หลาย ๆ ทาง เมื่อพิจารณาแล้ว ถือว่าเป็นการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีที่มีมานานหลายสิบปีแล้ว ลักษณะของชื่อการแสดงที่เรียกว่าแท่งตุ๊กน่าจะมาจากเสียงกลองเท่งตุ๊ก เวลาที่ใช้ตีประกอบการแสดง ผู้แสดง ส่วนใหญ่ใช้ผู้หญิงแสดง ยกเว้นตัวตลกอาจใช้ผู้ชายแสดงก็ได้   เรื่องที่ใช้แสดง ส่วนมากนำเรื่องเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านหรือเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ มาแสดงในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็นเรื่องราว อิงชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการอิจฉาริษยา ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน หรืออาจดัดแปลงเนื้อร้องให้เป็นไปตามบุคคลหรือ ตามความต้องการของผู้จัดหาไปแสดง
  • การเล่นสะบ้าล้อ
    จังหวัดจันทบุรีมีการละเล่นสะบ้าล้อกันมานาน เดิมที่นั้นนิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มักเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ นอกจากจะเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังมีการแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันด้วย ปัจจุบันหามีผู้เล่นได้น้อยเต็มที เทศบาลเมืองจันทบุรีได้พยายามอนุรักษ์ไว้ โดยมีการจัดให้มีแข่งขันเป็นประจำทุกปี ในช่วงของเทศกาลสงกรานต์
  • การแสดงพื้นบ้าน - ยันแย่
    เป็นการแสดงของชาวชองซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่แถบตำบลตะเคียนทองและ ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี แต่เดิมนั้นเพลงยันแย่ จะใช้สำหรับร้องกล่อมเด็ก ผู้ร้องจะร้องเป็นภาษาของชอง เนื้อหาของบทร้องจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินพร้อมทั้งสอดแทรกข้อคิด ปรัชญา ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์ ไม่มีการแต่งบทร้องไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ร้องจะร้องด้นสด ๆ ตามประสบการณ์และ จินตนาการของตนเอง ใช้คำง่ายๆ ต่อมาได้มีการนำเอาทำนองเพลงยันแย่ มาแต่งบทร้องให้เป็นบทโต้ตอบ และเกี้ยวพาราสีกันของหนุ่มสาวเพื่อใช้แสดง
  • การแสดงพื้นบ้าน - อาไย
    เป็นการละเล่นพื้นบ้านของหมู่บ้านตามูล ชาวบ้านแห่งนี้ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาพูด ฉะนั้นการเล่นอาไยจึงมีสำเนียงเนื้อร้องเป็นภาษาเขมร การเล่นอาไยนี้มีมานานหลายปีแล้ว ซึ่งได้รับการเผยแพร่มาจากเขมรโดยทิดฮัมกับทิดบุน ได้ศึกษาร่ำเรียนวิชาการละเล่นและได้นำมาเผยแพร่ต่อ ๆ กันมาถึงทุกวันนี้ จนกลายมาเป็นการละเล่นพื้นบ้านของ ชาวตามูลล่าง หมู่ที่ 3 ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว
  • การแสดงพื้นบ้าน - ระบำเก็บพริกไทย
    เนื่องจากการแสดงศิลปพื้นเมืองภาคตะวันออก ไม่ค่อยมีเด่นชัดนัก ทางคณะครูอาจารย์สายนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี จึงได้ประดิษฐ์ชุดการแสดงขึ้นตามสภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่น โดยเห็นว่าพริกไทยเป็นพืชเศรษฐกิจของจันทบุรีอย่างหนึ่งและมีขั้นตอนวิธีการที่น่าสนใจ จึงได้นำขั้นตอนการผลิตพริกไทยมาประดิษฐ์เป็นท่ารำ ใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน ประมาณ 6-8 คน
  • ระบำเริงนทีบูรพา
    ระบำชุดนี้สร้างสรรค์จากจินตนาการ โดยนำรูปแบบของการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลประเภทต่าง ๆ เช่น กุ้ง หอยปู ปลา และปลาหมึก ที่เวียนว่ายอยู่ในท้องทะเล บางชีวิตอาจจะต้องถูกชาวประมงจับไป
  • ระบำควนคราบุรี
    แนวความคิดในการประดิษฐ์ระบำควนคราบุรี เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากขอม มีหลักฐานทางศิลปะวัฒนธรรมของขอมเหลืออยู่ เช่น ซากกำแพงเมืองเก่า ศิลาแกะสลักเทวรูป ศิลาจารึก ภาษาขอมและภาษาขอม เป็นต้นภาษาขอม - ชื่อตำบลปัถวี อำเภอมะขาม มาจากคำเขมร " ปฐวี " แปลว่าแผ่นดิน บ้านวังสรรพรส อำเภอขลุง เพี้ยนมาจากภาษาเขมร " สปปุรส " ข.สับโปะรอะส์ หมายถึง ฆราวาส ผู้มีศรัทธาในศาสนา จึงทำให้ผู้ประดิษฐ์มีแนวคิดในการประดิษฐ์ท่ารำ การแต่งกาย ทำนองเพลง โดยใช้ศิลปะไทยผสมศิลปะของขอม ความหมายของระบำควนคราบุรี สมมุติถึงการร่ายรำของชายหญิงชาวควนคราบุรี แสดงความสนุกสนานรื่นเริงในงานนักขัตฤกษ์ต่าง โดยร่วมกลุ่มกันจับระบำรำฟ้อน
  • การแสดงพื้นบ้าน - ระบำชอง
    เป็นระบำที่แสดงถึงความสนุกสนานร่าเริงของชาวชองในจังหวัดจันทบุรี ที่มาจับกลุ่มกันในงานเทศกาลและร่วมเต้นระบำด้วยกัน ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน จำนวน 6-8  คน ( หรือแล้วแต่โอกาส ) จุดมุ่งหมายของการแสดงเพื่อความสนุกสนานและสวยงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น